กลับมาแล้ว ด่านตรวจ เวอร์ชั่นใหม่

--Advertisement--

วันที่ 4 พ.ย. 63 มีรายงานว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้มอบนโยบายให้แก่ตำรวจระดับนายพลตำรวจทั่วประเทศ 496 นาย เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยให้ระงับการตั้งจุดตรวจไว้ก่อน เพื่อปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีมาตรฐานสากลในการปฏิบัตินั้น

โดยในวันนี้ (4 พ.ย. 63) เวลา 22.44 น. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร., พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น., พล.ต.ต สหรัฐ ศักดิ์ศิลปะชัย รองผบช.น. และ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. ร่วมชมการสาธิตการตั้งจุดตรวจป้องกันปราบปรามอาชญากรรมเพื่อลดอุบัติเหตุ บริเวณด้านหน้า สน.ทองหล่อ โดยมี พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ ผบก.น.5 ควบคุมการปฏิบัติ ซึ่งมีแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ดังนี้

1.หลักการและแนวทางในการตั้งจุดตรวจ

1.1 การตั้งจุดตรวจต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ระดับ ผบก.ขึ้นไป

1.2 การตั้งจุดตรวจต้องมีแผนการปฏิบัติที่ชัดเจน

1.3 จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ต้องมีป้ายแสดงถึงมาตรฐานการตรวจวัดแอลกอฮอร์ ตั้งไว้ตรงบริเวณใกล้โต๊ะตรวจวัดฯ ในลักษณะที่ผู้รับการตรวจวัดฯ มองเห็นได้ชัดเจน

1.4 การกำหนดสถานที่ตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอร์ ต้องกำหนดมาจาก (1.) ข้อมูลผู้กระทำความผิดเมาแล้วขับในเขตพื้นที่ (2.) สถิติการเกิดอุบัติเหตุ สาเหตุมาจากเมาแล้วขับ (3.)สภาพการจราจร ความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนและเจ้าหน้ที่ตำรวจเป็นสำคัญ (4.) ความสะดวก มีที่จอดยานพาหนะของผู้ขับขี่ มีไฟฟ้าสำหรับใช้ที่จุดตรวจฯ เช่น สำหรับกล้องวงจรปิดสัญญาณไฟวบวาบ และเครื่องพิมพ์ผลการตรวจ เป็นต้น

1.5 จุดตวจวัดแอลกอฮอล์ต้องมีแผงกั้นที่มีเครื่องหมายการจราจรว่า “หยุดตรวจ” โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่จุดตรวจและในเวลากลางคืนจะต้องมีแสงไฟส่องสว่างให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร และก่อนถึงจุดตรวจให้มีแผนป้ายแสดงยศ ชื่อ นามสกุล และตำแหน่งของหัวหนด่านตรวจ หรือจุดตรวจดังกล่าว

1.6 การสื่อสารกับประชาชนในการบังคับใช้กฎหมาย ต้องมีการอธิบายข้อกฎหมายให้ผู้กระทำผิดเข้าใจข้อกล่าวหา โดยใช้กิริยาวาจาที่สุภาพ

1.7 การตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด ตามที่ ตร. ได้เคยสั่งการไว้อย่าง เคร่งครัด

2.การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้

--Advertisement--

2.1 บันทึกข้อมูลการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ตามแผนการปฏิบัติลงในระบบการจัดทำแผนการตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร (Police Traffic Checkpoint Control)

2.2 ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ทุกนาย บันทึกการปฏิบัติหน้ที่ด้วยกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว เพื่อใช้เป็น พยานหลักฐานในการปฏิบัติหน้าที่ และเพื่อยืนยันความโปร่งใส

2.3 การตรวจวัดแอลกอฮอล์ ให้มีการตรวจเบื้องต้นและแบบยืนยันผล และต้องบันทึกการตรวจทั้งสองแบบด้วยกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว แบบดิจิตอลชนิดใส่ซิมเน็ต เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาสามารถตรวจสอบได้แบบเรียลไทม์

3. แนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริต

3.1 จัดโต๊ะสำหรับตรวจวัดแอลกอฮอล์แบบยืนยันผลให้มีแสงสว่างมากพอ เป็นสถานที่เปิดเผย ป้องกันความเคลือบแคลงสงสัยจากประชาชน

3.2 มีป้ายไว้ตรงบริเวณจุดตรวจวัดฯ มีข้อความว่า “จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ สน./สภ….. มีการ บันทึกภาพเคลื่อนไหวแบบดิจิตอลไว้เป็นหลักฐาน เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นมาตรฐานสากล”

3.3 เมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติแล้ว ให้หัวหน้าจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์รายงานผลการปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษรเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น

3.4 ให้หัวหน้าสถานีตรวจสอบข้อมูลการตรวจที่พิมพ์จากเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ ตามข้อ 3.3 หาก พบข้อมูลผิดปกติ ให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบต่อไป

3.5 ให้หัวหน้าสถานีตำรวจจัดทำระบบจัดเก็บไฟล์ภาพเคลื่อนไหวแบบดิจิตอลการตรวจวัดแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันการร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้ที่ผู้ตรวจวัดฯ ในภายหลัง

3.6 จัดให้มีแผ่นป้ายแสดงข้อความว่า “หากพบเจ้าหน้าที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบให้แจ้งผู้บังคับ การ โทร…(ให้ใส่หมายเลขโทรศัพท์มือถือของ ผบก.ไว้) หรือ แจ้งร้องเรียนการปฏิบัติหน้ที่ สายด่วน หมายเลข 1599” ข้อความดังกล่วข้างต้นให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 15 เมตร

เมื่อคณะได้ทำการตรวจสอบการตั้งจุดตรวจทดลองในครั้งนี้แล้ว จะทำการพิจารณาเพื่อสรุปข้อมูลว่าการ ตั้งจุดตรวจดังกล่าว เป็นไปตามแนวทางของ ผบ.ตร. ที่ได้มอบนโยบายไว้หรือไม่ ซึ่งหากเป็นไปตามแนวทาง จะได้นำเสนอเพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการตั้งจุดตรวจ เพื่อให้ทุกหน่วยในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป

ที่มา siamtopic

--Advertisement--