กรมควบคุมโรคเตือน!! ระวังเห็ดพิษ ป่วยพุ่ง 170 ราย ตาย 1 ศพ

--Advertisement--

อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยปีนี้พบผู้ป่วยกินเห็ดพิษแล้ว 170 ราย จาก 33 จังหวัด เสียชีวิต 1 ราย เตือนระมัดระวัง แม้ปรุงสุกก็ไม่สามารถทำลายพิษได้

เมื่อวันที่ 26 พ.ค.นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษ ในปี 2561 ตั้งแต่ 1 ม.ค.–16 พ.ค. 2561 พบผู้ป่วย 170 ราย จาก 33 จังหวัด เสียชีวิต 1 ราย ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 45-64 ปี พื้นที่ส่วนใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ จากข้อมูลการเฝ้าระวังล่าสุดในเดือน พ.ค. ได้รับรายงานผู้ที่รับประทานเห็ดพิษเป็นกลุ่มก้อน 4 เหตุการณ์ มีผู้ป่วยรวม 34 ราย ในจ.พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สตูล และนราธิวาส

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า จากการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าจะพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งหลังฝนตก 1-2 วัน เป็นช่วงที่เห็ดมีการเจริญเติบโตและแพร่กระจายตามธรรมชาติทั้งเห็ดที่รับประทานได้และเห็ดพิษ ปัจจุบันพบการกระจายของโรคได้ตลอดทั้งปีตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละพื้นที่ พบมากในเดือน พ.ค.-มิ.ย.ซึ่งผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมักเก็บเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น เห็ดป่า เห็ดที่ขึ้นใกล้ที่พักอาศัยมาปรุงอาหาร ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากการขาดประสบการณ์ในการสังเกตและจำแนกชนิดของเห็ดที่กินได้และกินไม่ได้ หรือกินร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการจำแนกเห็ดพิษไม่ใช่เรื่องง่าย ประชาชนจึงควรตระหนักและระมัดระวังในการนำเห็ดมารับประทาน เพราะเห็ดพิษแม้นำมาปรุงให้สุกก็ไม่สามารถทำลายพิษได้ หลังรับประทานเห็ดแล้วพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง เป็นตะคริวที่ท้อง ภายใน 6–24 ชั่วโมง หากเกิน 24 ชั่วโมงจะทำให้เกิดภาวะไตวาย ตับวายจนทำให้เสียชีวิตได้

--Advertisement--

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรีบปฐมพยาบาลด้วยการทำให้อาเจียนออกมาให้มาก โดยรับประทานไข่ขาวดิบ 3-4 ฟอง หรือดื่มน้ำอุ่นผสมผงถ่านหรือเกลือ แล้วรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว และให้ประวัติการรับประทานอาหารย้อนหลัง พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างเห็ดและอาหารที่เหลือจากการรับประทานไว้ด้วย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนระมัดระวังการเก็บเห็ดจากธรรมชาติมารับประทานในช่วงนี้ ควรเลือกเห็ดที่มาจากการเพาะขยายพันธุ์ เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง มารับประทานเพื่อความปลอดภัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ที่มา http://www.newtv.co.th/news/16145

--Advertisement--