ภัยใกล้ตัว!! “ยาดม” จิ๋วแต่ไม่แจ๋ว ตัวการสู่โรคร้ายที่คุณคาดไม่ถึง

--Advertisement--

“ยาดม” เป็นยาสามัญประจำบ้าน ที่ใครๆ ก็พกติดตัวไว้ตลอดเวลา โดยเฉพาะ กลุ่มผู้สูงอายุ หรือวัยกลางคน หรือคนที่จะเลิกบุหรี่แต่คุณทราบหรือไม่ว่า ยาดมที่ช่วยให้เรารู้สึกสดชื่นมีผลร้ายต่อร่างกายเป็นอย่างมาก ซึ่งจะจริงเท็จอย่างไรนั้น เรามาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันได้เลยค่ะ

ส่วนผสมของยาดมมาจากอะไรบ้าง

ต้องบอกก่อนว่า ยาดม เป็นยาสามัญประจำบ้าน คล้ายๆ กับยาวิเศษที่พกติดตัวได้ตลอดเวลา  เพราะช่วยบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก หน้ามืดตาลาย เวียนหัว นั่นก็เพราะว่า มีส่วนผสมหลัก อย่าง เมนทอล การบูร และพิมเสน

นอกจากนี้ ยังมีส่วนผสมที่สกัดออกมาจากทั้งธรรมชาติ เช่น น้ำมันสะระแหน่ น้ำมันเขียว น้ำมันกานพลู น้ำมันยูคาลิปตัส หรือน้ำมันระเหยที่ช่วยในการละลาย เช่น น้ำมันงา หรือน้ำมันแร่

ลำพังส่วนผสมอื่นๆ  ยังไม่ทำร้ายร่างกายเท่าไหร่นัก เพราะถือว่าเป็นสมุนไพรไทยที่ทุกคนรู้จักกันดี แต่ส่วนผสมหลักนี่แหละค่ะ ต้องระวังให้ดีเลยทีเดียว

3 ส่วนผสมในยาดม ที่ต้องระวังเป็นพิเศษ 

1. เมนทอล

“เมนทอล” หรือเกล็ดสะระแหน่ มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว มีกลิ่นหอมเย็น มีอยู่ในน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากใบมิ้นท์หรือใบสะระแหน่ฝรั่ง สารนี้เมื่อสัมผัสกับผิวหนังจะทำให้รู้สึกเย็น และยังมีสรรพคุณอีกมากมาย ได้แก่

    • ช่วยในการขับลม
    • มักใช้แต่งกลิ่นและรสยา เช่น ยาเคลือบกระเพาะอาหาร
    • มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่อย่างอ่อนๆ
    • ลดการบวมของหลอดเลือดที่จมูก
    • ลดอาการปวด

แต่เมื่อใช้ยาดมในปริมาณความเข้มข้นสูง และใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจเมื่อสูดดม และอาจทำให้ปอดอักเสบได้

2. การบูร

“การบูร” มีลักษณะเป็นเกล็ดมันวาว สีขาว มีกลิ่นหอมเย็นฉุน เดิมสกัดจากต้นการบูร แต่ปัจจุบันเป็นสารสังเคราะห์ เนื่องจากทำได้ง่าย และราคาถูกกว่าสกัดจากพืช

การบูรถูกดูดซึมทางผิวหนังได้ดี และจะรู้สึกเย็นเมื่อสัมผัสกับผิวหนังเช่นเดียวกับเมนทอล ที่มีฤทธิ์เป็นยาชาและต้านจุลินทรีย์อย่างอ่อนๆ

    • ใช้ทาเฉพาะที่แก้เคล็ดขัดยอก แก้บวน หรื แพลง
    • แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
    • โรคผิวหนัง

แต่อาจเกิดอันตรายจากการสูดดมการบูร เนื่องจากระคายเคืองทางเดินหายใจ โดยเคยมีรายงานการชักในเด็กทารกเมื่อกินการบูรเข้าโดยบังเอิญ

นอกจากนี้ มีผู้คนจำนวนมากนิยมนำการบูรมาใส่ในรถยนต์ เพื่อปรับอากาศทำให้หอมสดชื่น โดยภายหลังพบว่า การบูรเป็นสารระเหิดได้ เมื่อใส่ในรถยนต์ที่เปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา การบูรจะระเหิดไปเกาะที่ช่องแอร์ และหากจอดรถยนต์ทิ้งไว้ในที่อากาศร้อน อัตราการระเหิดก็จะเร็วยิ่งขึ้น

หากมีการใส่การบูรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ได้เปิดประตูหรือหน้าต่างรถยนต์ทิ้งไว้ให้ระเหิดออกมาด้านนอกแล้ว กลิ่นความเข้มข้นของการบูรที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยเฉพาะปอดและตับค่ะ

--Advertisement--

3. พิมเสน

“พิมเสน” มีลักษณะเป็นเกล็ดเล็กๆ แบนๆ สีขาวขุ่นหรือแดงเรื่อๆ กลิ่นหอมเย็น ซึ่งพิมเสนบริสุทธิ์รูปร่างจะเป็นหกเหลี่ยม ได้จากการนำการบูรมาหุงกับยาอื่นๆ แต่ปัจจุบันได้จากสารสังเคราะห์ ซึ่งจะมีรสเผ็ดกัดลิ้น แต่ถ้าเป็นพิมเสนจากธรรมชาติจะไม่กัดลิ้น ทำให้เย็นปากเย็นคอ ซึ่งสรรพคุณของพิมเสนก็คือ

    • ใช้สูดดมแก้ลมวิงเวียน
    • ทาภายนอกแก้เคล็ดขัดยอก

แต่อาจเป็นอันตรายหากสูดดม เนื่องจากพิมเสนอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ นอกจากนี้ พิมเสนยังมีฤทธิ์กระตุ้นและเป็นยากดระบบประสาทส่วนกลางอีกด้วย 

วิธีใช้ “ยาดม” อย่างถูกต้องและปลอดภัย

แม้ส่วนประกอบหลักของยาดมทั้ง 3 ชนิดจะทำให้โล่งจมูก และทำให้เกิดความรู้สึกเย็นซ่า สดชื่น ตื่นตัว และสามารถช่วยบรรเทาอาการขณะที่เป็นลมวิงเวียน หรือคัดจมูกได้ แต่ก็มีโทษอยู่มากหากเราใช้ผิดวิธี โดยวิธีการใช้ยาดมที่แพทย์ส่วนใหญ่แนะนำมีดังนี้

1. การใช้ยาดมที่ถูกต้อง ควรสูดดมใกล้ๆ แต่ไม่สัมผัสโดยตรง
2. ไม่ควรนำหลอดยาดมเข้าไปค้างไว้ในจมูก เพราะสารประกอบทุกตัวอาจทำให้ระคายเคืองเมื่อสัมผัส
3. หลีกเลี่ยงการใช้หลอดยาดมที่สัมผัสจมูกผู้อื่นแล้ว เพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้
4. ยาดมมีฤทธิ์เพียงลดอาการต่างๆ เพียงชั่วคราว ถ้าเป็นมากควรไปพบแพทย์
5. ยาดมที่เป็นลักษณะยาน้ำ หรือ ยาขี้ผึ้ง ให้ป้ายสำลีหรือผ้าเช็ดหน้า หรือทาบางๆ ที่หน้าอก แล้วสูดไอระเหย หรืออาจทาด้านนอกของจมูกแต่ต้องใช้ยาปริมาณน้อยๆ
6. หากมีโรคของโพรงจมูกอยู่ เช่น โพรงจมูกอักเสบจากการแพ้ ติดเชื้อในโพรงจมูก, หรือไซนัสอักเสบ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาดม เนื่องจากอาการแพ้ซึ่งอาจมีเยื่อบุโพรงจมูกเสียหายอยู่แล้ว
7. หากสูดยาดมที่มีความเข้มข้นมากๆ อาจระคายเคืองมากขึ้น
8. ยาสูดดมนี้อาจเกิดอันตรายกับเด็ก ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ให้ห่างมือเด็ก

นอกจากนี้ “ยาดม” ยังอาจทำให้ผู้ใช้เกิดการเสพติดได้ เนื่องจากสารเคมีที่ใช้ในผลิตบางชนิด เช่น เมนทอล และการบูร มีผลต่อระบบประสาทจึงอาจทำให้เกิดการเสพติดได้ ซึ่งการ ”ติดยาดม” นั้นอาจจะไม่เป็นอันตรายมาก เพราะจะเป็นรูปแบบที่ใช้จนติดเป็นนิสัย คล้ายคลึงกับการที่เราชอบหมุนปากกา หรือต้องกอดหมอนข้างในเวลนอน

เราสามารถตรวจสอบว่า มีอาการติดยาดมหรือไม่ ด้วยการสังเกตว่าหากวันไหนที่เราลืมพกยาติดตัวมาด้วย หรือไม่ได้ดมยาดมตลอดวัน อาจจะทำให้เราอาจรู้สึกอยากสูดยาดมบ้างเล็กน้อย แต่เมื่อทำงานหรือเรียนในระหว่างวันเราก็ละเลยความคิดนั้นไปได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รองศาสตราจารย์ ยุวดี วงษ์กระจ่าง ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ้างอิง https://finance.rabbit.co.th/blog/how-dangerous-in-thai-inhaler

--Advertisement--